ข้อมูลข่าวสารของราชการ
หลักการหรือแนวความคิดของกฎหมายฉบับนี้ คือ สิ่งใดที่เป็น "ข้อมูลข่าวสารของราชการ" ย่อมเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปได้เสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประชาชนทุกคนย่อมเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ เพราะแนวคิดเดิมตามกฎหมายเดิมจะมีอยู่ว่า "ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น" รูปธรรมที่ตามมาจากแนวคิดเดิม คือ เอกสารส่วนใหญ่ของราชการจะตีตราว่า ปกปิด ลับ ลับมาก หรือลับที่สุด หรือสถานที่ราชการห้ามเข้า เป็นต้น แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไป มีการปฏิรูปการเมือง จึงเกิดหลักประกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการให้แก่ประชาชน ซึ่งก็คือกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการนั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของราชการได้ อันจะส่งผลให้การปฏิบัติราชการมีความโปร่งใสมากขึ้น และแนวคิดใหม่ของกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ คือ "เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น"
แรกทีเดียวมีผู้เสนอว่ากฎหมายนี้ควรชื่อว่า "กฎหมายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ" แต่เกรงว่าอาจทำให้ประชาชนทั่วเข้าใจผิดว่าข้อมูลข่าวสารของราชการทุกชิ้นจะต้องเปิดเผย เพราะในความเป็นจริงอาจมีข้อมูลข่าวสารบางรายการสมควรเก็บไว้เป็นความลับเพื่อประโยชน์สาธารณะจึงต้องกำหนดลักษณะของเหตุที่จะไม่เปิดเผยไว้ตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ อย่างไรก็ดี การเก็บไว้เป็นความลับตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ นี้ เป็นเพียงข้อยกเว้นของกฎหมายนี้เท่านั้น
กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการจึงได้รับการยอมรับว่าเป็น "จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ" เนื่องจากเป็นการ "เปลี่ยนกระบวนทัศน์" หรือมุมมองเกี่ยวกับโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการโดยประชาชนเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องทำตัวให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายนี้ และในขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องขยันใช้กลไกของกฎหมายนี้อย่างสุจริตด้วย เพื่อให้การตรวจสอบการทำงานของข้าราชการเป็นผลอย่างจริงจัง (ที่มาเว๊บไซต์ คณะกรรมการกฤษฎีกา http://www.krisdika.go.th/law_00_1.jsp?head=3&item=1&code=1 )
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕
(http://www.krisdika.go.th/lawHtmStatic.jsp?lawType=law2&lawCode=%a203&lawID=%a203-20-2540-001)